วันเสาร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2552

ประวัติอาจารย์นารถ โพธิประสาท


อาจารย์นารถ โพธิประสาท (14 พฤศจิกายน 2444 – 18 มิถุนายน 2497 รวมอายุ 53ปี ) สถาปนิก อาจารย์และผู้ก่อตั้งสถาบันการศึกษาด้านสถาปัตยกรรม ระดับปริญญาแห่งแรกของประเทศไทยที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและผู้ร่วมสถาปนาวิชาชีพสถาปัตยกรรมของประเทศ

นายนารถ โพธิประสาท เกิดเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2444 ที่บ้านเลขที่ 2328 หลัง
ตลาดบ้านขมิ้น ตำบลสวนอนันท์อุทยาน อำเภอบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี เป็นบุตรของนายเปรี้ยง
และนางไหว มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกันคือ น.พ. ถนอม โพธิประสาท นายนารถได้สมรสกับนาง
สกุนตลา โพธิประสาท ชื่อเดิมนางสาวสกุล นิวาสนันท์ บุตรีนายหลวง และนางฉายวัชรจินดา ด้วย
ความที่ท่านเป็นคนที่มีความมานะ อุตสาหะและเรียนเก่งมาก จึงทำให้ท่านได้รับเลือกให้เป็นนักเรียนทุนของกระทรวงธรรมการ ให้ไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษเมื่อปี พ.ศ.2467

ประวัติการศึกษาและการทำงานเบื้องต้น

- เริ่มการศึกษาระดับชั้นประถมที่ โรงเรียนโฆษิตสโมสร
- พ.ศ. 2460 จบการศึกษาชั้นต้นจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
- พ.ศ. 2461 อายุเพียง 17 ปี ก็ได้เริ่มทำงานเป็นครูประจำชั้นโรงเรียนสวนกุหลาบ ได้เงินเดือน 60 บาท เป็นครูช่วยสอนภาษาอังกฤษตอนบ่ายโรงเรียนสตรีวิทยา และต่อมาได้เป็นครูถวายพระอักษรภาษาไทยและคำนวณแด่พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
- พ.ศ. 2462 อาจารย์นารถได้ขอเปลี่ยนตำแหน่งไปเป็นครูฝึกหัดโรงเรียนสวนกุหลาบเพื่อรับการคัดเลือกไปศึกษาวิชาในต่างประเทศ โดยต้องลดเงินเดือนลงมาเหลือเพียงเดือนละ 30 บาท
- พ.ศ. 2464 - พ.ศ. 2467 ได้รับทุนจากกระทรวงธรรมการให้ไปศึกษาที่โรงเรียนศิลปกรรมปอร์ตสมัธ( Portsmouth School of Art ) ประเทศอังกฤษ เป็นเวลา3ปี จนจบการศึกษาได้รับประกาศนียบัตรเทคนิคทางจิตรกรรม
- พ.ศ. 2467 ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายหมู่ลูกเสือไทยไปร่วมประชุมนานาชาติ ณ กรุงโคเปนเฮเกน เสร็จประชุมแล้วเดินทางกลับประเทศอังกฤษ ผ่านประเทศเยอรมนี เบลเยียมและฝรั่งเศส ได้แวะศึกษาวิชาสถาปัตยกรรมแบบภาคพื้นยุโรปด้วยการเห็นของจริง ปีต่อมา (พ.ศ. 2468) เมื่ออายุ 25 ปีได้เลือกเข้าศึกษาที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ เป็นเวลา 5 ปี ซึ่งท่านได้รับผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาเสมอ

โดยระหว่างที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูลนั้นนายนารถได้ชนะการประกวดแบบ ซึ่งชาวต่างประเทศน้อยคนจะได้รับรางวัล และต้องเป็นนักเรียนดีที่สุด อันมีรางวัลให้ไปดูงานและฝึกอบรม ในประเทศสหรัฐอเมริกา เมืองดีทรอยท์ 6 เดือน และได้มีโอกาสเข้าร่วมออกแบบและควบคุมงานโรงภาพยนตร์ นิว ฟอกซ์ดีทรอยท์ หลังจากนั้นท่านก็ได้กลับมาสอบไล่เป็นผลสำเร็จได้รับปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตร์บัณฑิต โดยได้รับเกียรตินิยมอันดับ 1 ในสาขาการก่อสร้าง นับเป็นคนไทยที่ได้รับเกียรตินิยมอันดับ1เป็นคนที่ 2 หลังจากพระสาโรชรัตนนิมมานก์ หลังจากนั้นท่านได้สอบเข้าเป็นสมาชิกสถาบันวิชาชีพจนได้รับประกาศนียบัตรสมาชิกของสถาบัน 3 แห่ง ได้แก่ ประกาศนียบัตรสมาชิกแห่งราชบัณฑิตยสภา สถาปนิกอังกฤษ(A.R.I.B.A.Qual.) ประกาศนียบัตร สมาชิกแห่งราชบัณฑิตยสภาสุขาภิบาล(M.R.S.San.I.) และ ประกาศนียบัตร สมาชิกสมทบแห่งสภาวิศวกรรม(A.I.Struct.E.)

นอกจากนั้นในปีพ.ศ. 2473 นายนารถ ยังได้ฝึกงานในสำนักงานสถาปนิกของประเทศอังกฤษเป็นเวลา6เดือน และศึกษาสังเกตการณ์สถาปัตยกรรมในประเทศอื่นๆในยุโรปเป็นเวลาอีก 2เดือน เพื่อศึกษาดูงานสถาปัตยกรรมอิตาลี พร้อมทั้งศึกษาเพิ่มเติมวิชาผังเมืองและกฎหมายก่อสร้างตลอดจนศึกษาเรื่องที่ดิน และอุโฆษวิทยาของอาคาร(Acoustic of Buildings)

สรุปได้ว่า นายนารถอยู่ต่างประเทศในช่วงเวลา พ.ศ. 2464 – พ.ศ. 2473 (ค.ศ. 1921 –ค.ศ. 1930) รวม 9 ปี
เมื่อกลับมาประเทศไทยในปีพ.ศ. 2473 ก็ได้มาเป็นครูสอนวิชาช่างที่โรงเรียนเพาะช่าง ต่อจากนั้นได้ดำเนินการเสนอรัฐบาลให้ยกฐานะวิชาสถาปัตยกรรมขึ้นสู่ระดับอุดมศึกษาเป็นแผนกวิชาสถาปัตยกรรม ในสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ประวัติการทำงานหลังจบการศึกษาในต่างประเทศ

พ.ศ. 2473 เข้ารับราชการเป็นอาจารย์โท ในโรงเรียนเพาะช่าง เป็นโรงเรียนสอนเฉพาะวิชาช่างสาขาต่างๆ แต่ยังไม่มีสาขาสถาปัตยกรรม จึงได้วางหลักสูตรวิชาสถาปัตยกรรมเป็นการทดลองเป็นเวลา 2 ปี เพื่อนำผลทดสอบเพื่อเป็นทางเปิดเป็นหลักสูตรโดยตรงในมหาวิทยาลัยในเวลาต่อไป โดยรับนักเรียนที่เรียนวิชาวาดเขียน ตามหลักสูตรโรงเรียนเพาะช่างแล้วเข้าศึกษาจำนวน 2 รุ่น รวม 30 คน ซึ่งการทดลองสอนของอาจารย์นารถ ปรากฏผลเป็นที่พอใจ ต่อมา เจ้าพระยาธรรมศักดิมนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ จึงได้มีคำสั่งให้โอนย้ายแผนกสถาปัตยกรรม จากวิทยาลัยเพาะช่าง มาขึ้นกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปีพ.ศ. 2475 โดยให้เป็นแผนกหนึ่งของคณะวิศวกรรมศาสตร์ และให้ใช้บ้านพักผู้บัญชาการมหาวิทยาลัย เรือนพระรตราชา เป็นอาคารเรียนชั่วคราว ทำให้อาจารย์นารถต้องทำงานอย่างหนักทั้งทางด้านการบริหารและวิชาการ เชิญสถาปนิกจากหน่วยงานอื่นมาช่วยสอน เช่น หม่อมเจ้าโวฒยากร วรวรรณ หม่อมเจ้าประสมสวัสดิ์ สุขสวัสดิ์สถาปนิกกรมรถไฟและผู้อื่นอีกหลายท่าน

พ.ศ. 2476 เป็นอาจารย์ แผนกวิชาสถาปัตยกรรมในคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หลังจากมีประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดตั้งกระทรวงและกรม พุทธศักราช 2476 ยกฐานะจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นกรมหนึ่งในกระทรวงธรรมการ ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกาการจัดวางระเบียบราชการสำนักงานและกรมในกระทรวงธรรมการพุทธศักราช 2476 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พุทธศักราช 2476 ให้แผนกสถาปัตยกรรมเป็นแผนกหนึ่งของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดรับนักศึกษาเข้าเรียนที่แผนกสถาปัตยกรรมโดยตรงเป็นปีแรก ปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนเป็น 3 ปี เมื่อจบการศึกษาจะได้รับอนุปริญญา

ต่อมา ได้แยกแผนกสถาปัตยกรรมออกจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มีฐานะเป็นแผนกอิสระ ขึ้นตรงต่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พุทธศักราช 2477 และแต่งตั้งพระเจริญวิศวกรรม คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นผู้รักษาการ ตำแหน่งหัวหน้าแผนกอิสระสถาปัตยกรรมศาสตร์ อีกตำแหน่งหนึ่ง ในปีนี้ มีผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตร 3 ปี ซึ่งมาจากวิทยาลัยเพาะช่างจำนวน 11 คน


- พ.ศ. 2477 สถาปนิก กรมโยธาเทศบาล
เนื่องจากรัฐบาลในขณะนั้นได้เร่งรัดพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะด้านการก่อสร้าง จึงต้องหา ผู้มีความรู้ความสามารถโดยตรงมาวางรากฐาน กรมโยธาเทศบาลจึงขอโอนอาจารย์นารถไปเป็นนายช่างสถาปนิก หัวหน้ากองสถาปัตยกรรม ในกรมโยธาเทศบาล

อาจารย์นารถได้วางระเบียบแบบแผนในการปฏิบัติราชการโดยใช้หลักวิชาครูในการปกครองผู้ใต้บังคับบัญชา ทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาได้รับการถ่ายทอดทั้งความรู้ ความละเอียดรอบคอบและความมีหลักการ การออกแบบอาคารเน้นความเรียบง่าย ประหยัด ประโยชน์ใช้สอยมาก่อนความสวยงาม มีอาคารที่ออกแบบและคำนวณโครงสร้างเอง คือ อาคารที่ทำการสถานีตำรวจพลับพลาไชย สูง 5 ชั้น ในระหว่างที่อยู่กรมโยธาเทศบาลอาจารย์นารถก็ยังไปสอนเป็นอาจารย์พิเศษที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอยู่ตลอดเวลา
- พ.ศ. 2479 หัวหน้ากองสถาปัตยกรรม กรมโยธาเทศบาล
- พ.ศ. 2493 นายช่างประจำ กรมโยธาเทศบาล
- พ.ศ. 2494 อาจารย์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในปีพ.ศ. 2482 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ยกฐานะแผนกอิสระสถาปัตยกรรม ขึ้นเป็นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ปรับปรุงหลักสูตรเป็นขั้นปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตร์บัณฑิต ใช้เวลาเรียน 5 ปี โดยแต่งตั้งให้ พระยาประกิตกลศาสตร์ (รุณชิต กาญจนวณิชย์) เป็นคณบดีคนแรกของคณะ ซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่างปีพ.ศ. 2486-2497
และเนื่องจากทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกิดขาดแคลนอาจารย์ จึงได้เจรจาขอโอนตัวอาจารย์นารถกลับไปรับตำแหน่งอาจารย์เอกตามเดิม ซึ่งอาจารย์นารถได้ทุ่มเทให้กับการบริหารและการสอนอย่างหนักทำให้สุขภาพเสื่อมโทรม

นายนารถกลับมาเป็นอาจารย์ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เพียงแค่ 3 ปี ก็ถึงแก่กรรมในวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2497 หลังจากกลับจากการประชุมปรับปรุงหลักสูตรสถาปัตยกรรมที่คณะสถาปัตยกรรม เพียง 3-4 ชั่วโมง อาจารย์นารถ ก็ถึงแก่กรรมจากโรคปอดซึ่งเป็นโรคที่ยังรักษาไม่ได้ในขณะนั้น และมีการพระราชทานเพลิงศพในวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2499 ณ วัดเทพศิรินทราวาส

ดังนั้นช่วงเวลาในการทำงานของนายนารถในประเทศไทยคือ พ.ศ. 2473 – พ.ศ. 2497(ค.ศ.1930 – ค.ศ. 1954) รวม 24 ปี

อาจารย์นารถนั้นมีบทบาทอย่างมากต่อคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการวางรากฐานโดยการวางระบบการศึกษา โดยเอาหลักสูตรของมหาวิทยาลัย Liverpool มาใช้ อาจารย์นารถนั้นมีความรู้ทางด้านทฤษฎีทางสถาปัตยกรรมที่เป็นระบบอย่างมาก และชอบการสอนมากกว่าการทำงานเป็นสถาปนิกที่กรมโยธาในยุคนั้น

ในช่วงเริ่มต้นของการศึกษาวิชาสถาปัตยกรรมในประเทศไทยนั้น แนวทางการสอนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสถาปัตยกรรมสากลแบบคลาสสิคตามแนวทางของ Ecole des Beaux-Arts สถาบันทางศิลปะที่มีชื่อเสียงของฝรั่งเศส คือเน้นไปในด้านศิลปะ ประวัติศาสตร์ และการออกแบบเป็นหลัก โดยมีจุดประสงค์เพื่อผลิตผู้ที่จะไปทำงานในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นกรมโยธาธิการและกรมศิลปากร ด้วยลักษณะอาคารที่ก่อสร้างในยุคนั้นเป็นอาคารที่อิงรูปแบบไทยประเพณีเป็นส่วนใหญ่ แต่ต่อมาได้มีการปรับหลักสูตรโดยเปลี่ยนไปใช้ระบบการศึกษาตามแนวทางของมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ ที่เน้นการสอนวิชาชีพ (Professional School) เพื่อให้ผู้ที่เรียนจบสามารถออกไปปฏิบัติงานที่ใดก็ได้

ปัจจุบันคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดวางรูปปั้นครึ่งตัวของอาจารย์นารถ โพธิประสาทไว้ ณ โถงทางเข้าอาคารเรียนหลังเดิมเพื่อเป็นการระลึกถึงคุณูปการที่ท่านอาจารย์ได้มีต่อการศึกษาและวิชาชีพสถาปัตยกรรมในประเทศไทยโดยจะมีพิธีสักการะทุกวันที่ 23 พฤษภาคมซึ่งเป็นวันเกิดคณะทุกปี


ด้านผลงานที่มีต่อวงการสถาปัตยกรรม
- ศาลาเฉลิมกรุง

ศาลาเฉลิมกรุงมิใช่เป็นเพียงโรงภาพยนตร์โรงหนึ่งเท่านั้น แต่ยังมีประวัติความเป็นมาเกี่ยวพันกับความรุ่งเรืองของกรุงเทพมหานคร อีกทั้งยังเป็นตัวแทนความเฟื่องฟูของวงการภาพยนตร์ของประเทศในอดีตที่ผ่านมาด้วย

การก่อสร้างอาคารศาลาเฉลิมกรุงเริ่มเมื่อ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๓ โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาทรงวางศิลาฤกษ์ด้วยพระองค์เอง จากนั้นบริษัทบางกอกจึงเริ่มงานก่อสร้าง หม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร ทรงออกแบบอาคารศาลาเฉลิมกรุงในรูปแบบสากลสมัย (International Style หรือ Modern Style) หรือที่สถาปนิกรุ่นหลังเรียกว่า Contemporary Architecture ตัวอาคารมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมสูงตระหง่าน

มั่นคง ผึ่งผาย ตามแบบตะวันตก ได้นำความงดงามประณีตและความละเอียดอ่อนของศิลปกรรมไทยมาผสมผสานกับสถาปัตยกรรมตะวันตกได้อย่างลงตัว

ในส่วนโครงสร้าง นายนารถ โพธิปราสาท ได้คำนวณน้ำหนักอย่างดีเยี่ยม ด้วยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ใช้โครงสร้างภายในเป็นตัวรับน้ำหนักแทนการใช้ผนังรับน้ำหนักอย่างสถาปัตยกรรมไทย โดยแบ่งส่วนอาคารรอบห้องโถงใหญ่ให้เป็นห้องเล็กห้องน้อย เพื่อใช้ผนังและเสาย่อยของแต่ละห้องเป็นตัวช่วยพยุงน้ำหนัก ในขณะเดียวกันก็เปิดเนื้อที่กว้างขวางไว้ภายในโดยไม่มีเสามาบังตา ส่วนประกอบอื่น เช่น ผนัง ประตูบานพับ ยังเน้นถึงความปลอดภัยของผู้ที่เข้าไปชมภาพยนตร์เป็นสำคัญ

โครงสร้างของอาคารศาลาเฉลิมกรุงมีความมั่นคงแข็งแรงมาก เพราะใช้วิธีวางฐานรากแบบแปลนด้วยการตอกเสาเข็มแบบเป็นกลุ่ม ประกอบกับโครงสร้างภายในที่ใช้โครงเหล็กอันแข็งแรง มีคุณสมบัติในการรับน้ำหนักดีเยี่ยม โครงเหล็กนี้เป็นเหล็กในลักษณะเดียวกับโครงสร้างเหล็กของสะพานพุทธฯ ที่มีขนาดใหญ่ และอาศัยการต่อเหล็กโดยใช้น็อตแบบเดียวกัน จึงทำให้โครงสร้างของอาคารศาลาเฉลิมกรุงมีความมั่นคงแข็งแรงยิ่งขึ้น

ในสมัยนั้นอาคารศาลาเฉลิมกรุงจัดได้ว่าเป็นอาคารที่ทันสมัยสุดในเอเชียขณะนั้น มีความสวยงามเป็นที่น่าตื่นเต้นและภาคภูมิใจแก่ผู้ได้มาสัมผัสชื่นชม สามารถจุผู้คนได้เป็นพันคน มีการออกแบบตกแต่งภายในอย่างวิจิตรงดงามด้วยศิลปะไทยสอดผสานกับศิลปะตะวันตก มีระบบไฟแสงสีที่แปลกตาอย่างไม่เคยมีมาก่อน มีระบบเสียงที่สมบูรณ์แบบ มีระบบปิด-เปิดม่านอัตโนมัติ จุดเด่นของศาลาเฉลิมกรุงก็คือระบบปรับอากาศ นับได้ว่าเป็นโรงมหรสพแห่งแรกของประเทศไทยที่ติดตั้งระบบปรับอากาศ ซึ่งเป็นสิ่งทันสมัยในยุคนั้น เครื่องปรับอากาศที่นำมาใช้เป็นเครื่องปรับอากาศระบบไอน้ำรุ่นแรกจากสหรัฐอเมริกา ศาลาเฉลิมกรุงนำเครื่องปรับอากาศระบบนี้มาใช้หลังจากที่สหรัฐอเมริกาคิดระบบเครื่องปรับอากาศได้เพียง ๑๓ ปีเท่านั้น

- เมื่อ พ.ศ. 2477 อายุ 33 ปี อาจารย์นารถได้ร่วมกับสถาปนิกที่ยังมีจำนวนน้อยในขณะนั้น ก่อตั้งสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ขึ้น



โดยเริ่มจากเมื่อปี พ.ศ. 2476 สถาปนิกซึ่งสำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศจำนวนหนึ่งได้ร่วมปรึกษาหารือในการดำเนินการจัดตั้งสมาคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยส่งเสริมวิชาชีพสถาปัตยกรรมให้เจริญ เป็นที่รู้จักแก่คนทั่วไป และเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ในระหว่างสมาชิกด้วยกัน ดังนั้น ในวันที่ 18 เมษายน 2477 จึงมีการประชุมของสมาคมเป็นครั้งแรก ที่ประชุมใหญ่ได้เลือกผู้ริเริ่ม 7 ท่านเป็นกรรมการอำนวยการ ซึ่งพระสาโรชรัตนนิมมานก์ เป็นนายกสมาคม และอาจารย์นารถ โพธิประสาท ดำรงตำแหน่งเป็นเหรัญญิก


ต่อมาในปี พ.ศ.2484 การดำเนินกิจการของสมาคม ต้องหยุดชะงักลงโดยปริยาย เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในภาวะสงครามกรณีพิพาทอินโดจีน วิกฤตการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 และประกอบกับการสิ้นชีพพิตักษัยของ ม.จ.อิทธิเทพสรรค์ กฤดากร ซึ่งทรงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการบริหารงานของสมาคม ด้วยเหตุนี้จึงมีผลให้สมาคมสถาปนิกสยามต้องหยุดกิจการชั่วระยะหนึ่ง เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงในปี พ.ศ. 2488 ได้พิจารณาเห็นควรที่จะมีการรื้อฟื้นสมาคมสถาปนิกสยามขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง ในปีถัดมาจึงมีการประชุมกันขึ้นและมีความเห็นร่วมกันว่าควรจะมีการฟื้นฟูกรรมการเพื่อทำหน้าที่วางโครงการและพิจารณาร่างระเบียบการของสมาคมฯ ขึ้นใหม่ โดยยังยึดถือนโยบายเก่าของสมาคมฯไว้อาทิ การคงชื่อเดิมของสมาคมฯไว้ โดยมิได้เปลี่ยนคำว่า “สยาม” เป็น “ไทย” ด้วยเหตุนี้ สมาคมสถาปนิกสยามจึงกลับฟื้นตัวอีกครั้งหนึ่ง

ซึ่งนายนารถ โพธิประสาท ได้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกสมาคมฯสถาปนิกสยามฯ เป็นคนที่3 ในปีพ.ศ. 2490


- พ.ศ. 2487 ได้เรียบเรียงหนังสือ "สถาปัตยกรรมในประเทศไทย" ตีพิมพ์เผยแพร่โดยกรมโยธาเทศบาลและใช้สอนทั้งในโรงเรียนช่างโยธาของกรมฯ เองและที่มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นตำราสถาปัตยกรรมภาษาไทยเล่มแรก ออกแบบปกโดย ม.ร.ว.มิตรารุณ เกษมศรี เขียนเสร็จเมื่อ พ.ศ.2487 และกรมโยธาเทศบาล (ชื่อขณะนั้น) จัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2489



การศึกษาเพื่อนำมาเรียบเรียงนี้ได้ใช้เอกสารทั้งไทยและเทศ ตลอดจนขอความรู้จากผู้ทรงคุณวุฒิ เช่น ขอประทานความรู้จากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และขอความรู้ทางโบราณคดีจากหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์

ตัวอย่างบทความส่วนหนึ่งในประวัติสถาปัตยกรรมในประเทศไทยที่อาจารย์นารถเขียนไว้ ได้กล่าวถึงลักษณะสถาปัตยกรรมวัดไทย กล่าวว่าหลังคาโบสถ์ของวัดไทยที่ซ้อนกันมีความงดงาม ย่อมทำด้วยเหตุผลประการแรกคงมาจากประโยชน์ใช้สอย เช่น ป้องกันแดดป้องกันฝน ประการที่สองนั้นเกี่ยวกับเหตุผลทางจิตใจ ซึ่งมีมูลเหตุหลายทาง แต่ได้เสนอไว้พอเป็นหลักพิจารณาค้นหาความจริงต่อไป คือ

1.. ด้วยไทยและจีนมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมาแต่โบราณกาล และไทยรู้จักลัทธิธรรมเนียมของจีนเป็นอย่างดี จีนมีประเพณีนิยมอย่างหนึ่งในการสร้างหลังคาซ้อนกัน 3 ชั้น โดยมีเหตุผลเนื่องจากร่ม 3 คัน ซึ่งจีนถือว่าเป็นสิ่งมงคลควรไว้ในที่สูง และสร้างไว้บนหลังคาที่ประทับของกษัตริย์ตามประเพณีนิยม ไทยเห็นว่าเป็นแบบอย่างที่จะนำมาดัดแปลงประกอบใช้ในสถาปัตยกรรมไทยได้ จึงคิดสร้างให้มีหลังคาซ้อนกันหลายชั้นในแบบอย่างไทย แต่ประเพณีร่ม 3 คัน มิได้ปรากฏเค้าเงื่อนที่ชัดเจนในสถาปัตยกรรมไทย จึงยังไม่เป็นข้อสนับสนุนว่าหลังคาซ้อนกันหลายชั้นมาจากจีนโดยตรง

2.. ไทยได้รับพระพุทธศาสนามาจากอินเดีย เมื่อได้เห็นแบบอย่างอาคารของชาวอินเดียก็เลื่อมใส นำมาดัดแปลงและประดิษฐ์เป็นรูปแบบขึ้นใหม่ตามนิสัยใจคอของไทย จึงเป็นเหตุให้สถาปัตยกรรมไทยมีหลังคาซ้อนกันดังปรากฏอยู่ทุกวันนี้นั้น เป็นเหตุผลที่พึงสำเหนียกไว้ได้ แต่ถ้าจะได้พิจารณากันโดยใกล้ชิดแล้ว ก็จะเห็นได้ว่า ช่างไทยก็มีเหตุผลของตนเองอยู่หลายประการ อันเป็นมูลเหตุสำคัญแห่งการประดิษฐ์แบบอย่างไทยนี้อยู่มาก.....

3.. อาคารขนาดธรรมดา มักสร้างเป็นรูปทรงถูกสัดส่วนได้ง่าย ฉะนั้น ขนาดของหลังคาและส่วนสัมพันธ์ก็พอจะเหมาะสมกลมกลืนกันไปได้ ถ้าเป็นอาคารขนาดใหญ่ก็จำต้องขยายหลังคาให้ใหญ่ออกไปเพื่อคลุมได้ทุกส่วนของตัวอาคารดังนี้ จึงทำให้ส่วนสัมพันธ์ของอาคารขนาดใหญ่ เกิดขัดแย้งกับหมู่อาคารข้างเคียงที่เป็นขนาดเล็กว่าได้ ฉะนั้น เพื่อป้องกันมิให้เกิดสิ่งไม่ดีไม่งามขึ้น ก็จำต้องหาหนทางแก้ไขโดยแบ่งสัดส่วนหลังคาเป็นตอนๆ จึงเกิดเป็นชั้นซ้อนกันหลายชั้นดังนี้ อนึ่ง หลังคาย่อมประกอบขึ้นตามรูปของเนื้อพื้นที่อาคารนั้น อาคารที่มีขนาดความกว้างยาวมาก มักทำให้เกิดรูปหลังคาผิดขนาดไม่น่าดูดังกล่าว....ฉะนั้น การยกหลังคาส่วนสูงขึ้นซ้อนกันจึงได้ประโยชน์ดังกล่าวในประการแรก และทำให้เกิดความงามอีกลักษณะหนึ่งด้วย ซึ่งนายช่างไทยมีนิสัยและเข้าใจเรื่องนี้ดี จึงคิดทำให้เกิดความสำคัญเพิ่มขึ้นแก่อาคารขนาดใหญ่ให้เห็นเด่นชัดยิ่งขึ้นจากหมู่อาคารทั้งหลาย.......

หรือถ้าจะให้เข้าใจไปอีกแง่หนึ่งก็คือ วัตถุก่อสร้างและวิธีก่อสร้างเป็นต้นเหตุบังคับให้ต้องดัดแปลงแผนแบบไปในทางที่สะดวก เป็นเหตุให้ต้องทำหลังลดหลั่นกันลงมา ในเมื่อต้องการขยายความยาวหรือความกว้างของอาคารนั้น ทั้งนี้ทำให้ยังเกิดผล 2 ประการ คือ สะดวกแก่การหาวัตถุและง่ายแก่การก่อสร้าง เช่น จะหาคานไม้ขนาดใหญ่พอที่จะรับน้ำหนักบรรทุก.....

ผลสืบเนื่องมาแต่วิธีการดังกล่าว ยังแสดงให้เห็นปรากฏภายนอกอาคารตามความเป็นจริงของโครงสร้างภายในด้วย ซึ่งนายช่างไทยได้นำเอาส่วนนั้นๆ มาประกอบเป็นส่วนตกแต่งภายนอก ให้กลมกลืนกับทรวดทรงได้เป็นผลสำเร็จเป็นอย่างดี ทั้งนี้เป็นการเสริมให้ตัวอาคารดูสูงเด่นสมกับลักษณะเป็นอาคารอันเป็นประธาน และเมื่อการตกแต่งอันมีรายละเอียดเป็นลวดบัว ช่อฟ้า ใบระกา ปราลีฯ ตามลักษณะแบบอย่างไทยแล้วก็ยิ่งทวีความงามอย่างวิจิตรพิสดารตระการตายิ่งนัก อันทำให้เกิดเป็นแบบอย่างของสถาปัตยกรรมไทยที่ได้รับการยกย่องนับถือสืบเนื่องต่อกันมาจนทุกวันนี้

อาจารย์นารถ โพธิประสาท เป็นบุคคลตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึง ความขยันมุมานะ ตั้งใจเรียนตั้งแต่สมัยเด็ก มีความพยายาม มุ่งมั่นต่อสิ่งที่รัก และมีความรับผิดชอบสูงมากต่องานที่ตนทำ และเป็นผู้ทำให้ก่อกำเนิดคณะสถาปัตยกรรมขึ้นภายในประเทศไทย ให้พวกเราได้มีโอกาสร่ำเรียนวิชาในคณะสถาปัตยกรรมสืบต่อมา เพื่อพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้าต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น